หากจะว่าไปแล้วชุดไทยสำหรับการแต่งงานก็ไม่ได้จำเพาะเจาะจงต้องเป็นชุดไทยพระราชนิยมหรือไทยประยุกต์ มีเจ้าสาวหลายๆคนกลับสวมชุดไทย 4 ภาค ซึ่งก็เก๋ไก๋ได้ใจไปอีกแบบ ซึ่งแน่นอนว่าร้านเช่าชุดไทยเพื่อนเจ้าสาว ของเราก็มีไว้บริการ ไหนๆก็พูดถึงชุดไทยแบบ 4 ภาคแล้วก็มาทำความรู้จักกันเลยดีกว่า
· การแต่งกายชุดไทยประจำภาคเหนือ
มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง หรือที่เรียกว่า “คำเมือง” จะใช้กันแพร่หลายในภาคเหนือตอนบน ส่วยภาคเหนือตอนล่างเคยอยู่ร่วมกับสุโขทัย อยุธยาทำให้ประเพณี และวัฒนธรรมมีลักษณะคล้ายกับภาคกลาง ภาษาพูดจะมีลักษณะช้าและนุ่มนวล เช่น อู้ (พูด) เจ้า (ค่ะ) แอ่ว (เที่ยว) กิ๊ดฮอด (คิดถึง) การแต่งกายภาคเหนือ ชาวพื้นเมืองจะแต่งกายตามเชื้อชาติโดยทั่วไป ลักษณะการแต่งกายของคนภาคเหนือการแต่งกาย เป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่ง ที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของคนแต่ละพื้นถิ่น สำหรับในเขตภาคเหนือหรือดินแดนล้านนาในอดีต ปัจจุบันการแต่งกายแบบพื้นเมืองได้รับความสนใจมากขึ้น แต่เนื่องจากในท้องถิ่นนี้มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ เช่น ไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ และอิทธิพลจากละครโทรทัศน์ ทำให้การแต่งกายแบบพื้นเมืองมีความสับสนเกิดขึ้น ดังนั้นคณะทำงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ จึงได้ระบุข้อไม่ควรกระทำในการแต่งกายชุดพื้นเมือง ของ “แม่ญิงล้านนา” เอาไว้ว่า
1.ไม่ควรใช้ผ้าโพกศีรษะ ในกรณีที่ไม่ใช่ชุดแบบไทลื้อ
2. ไม่ควรเสียบดอกไม้ไหวจนเต็มศีรษะ
3. ไม่ควรใช้ผ้าพาดบ่าลากหางยาว หรือคาดเข็มขัดทับ และผ้าพาดที่ประยุกต์มาจาก ผ้าตีนซิ่นและผ้า “ตุง” ไม่ควรนำมาพาด
4. ตัวซิ่นลายทางตั้งเป็นซิ่นแบบลาว ไม่ควรนำมาต่อกับตีนจกไทยวน
· การแต่งกายชุดไทยประจำภาคอีสาน
ภาษาภาคนี้สำเนียงคล้ายภาษาลาว ซึ่งเรามักจะเรียกว่าเป็นภาษา “อีสาน” ภาษาอีสานเช่น เว้า (พูด) แซบ (อร่อย) เคียด (โกรธ) นำ (ด้วย)การแต่งกายส่วนใหญ่ใช้ผ้าทอมือ ซึ่งทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย และผ้าไหมผ้าพื้นเมืองอีสาน ชาวอีสานถือว่าการทอผ้าเป็นกิจกรรมยามว่างหลังจากฤดูการทำนาหรือว่างจากงานประจำอื่นๆ ใต้ถุนบ้านแต่ละบ้านจะกางหูกทอผ้ากันแทบทุกครัวเรือน โดยผู้หญิงในวัยต่างๆ จะสืบทอดกันมาผ่านการจดจำและปฏิบัติจากวัยเด็กทั้งลวดลายสีสัน การย้อมและการทอ ผ้าที่ทอด้วยมือจะนำไปใช้ตัดเย็บทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม หมอน ที่นอน ผ้าห่ม และการทอผ้ายังเป็นการเตรียมผ้าสำหรับการออกเรือนสำหรับหญิงวัยสาว ทั้งการเตรียมสำหรับตนเองและเจ้าบ่าว ทั้งยังเป็นการวัดถึงความเป็นกุลสตรี เป็นแม่เหย้าแม่เรือนของหญิงชาวอีสานอีกด้วย ผ้าที่ทอขึ้นจำแนกออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ผ้าทอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน จะเป็นผ้าพื้นไม่มีลวดลาย เพราะต้องการความทนทานจึงทอด้วยฝ้ายย้อมสีตามต้องการ
2. ผ้าทอสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น ใช้ในงานบุญประเพณีต่างๆ งานแต่งงาน งานฟ้อนรำ ผ้าที่ทอจึงมักมีลวดลายที่สวยงามวิจิตรพิสดาร มีหลากหลายสีสัน
ประเพณีที่คู่กันมากับการทอผ้าคือการลงข่วง โดยบรรดาสาวๆ ในหมู่บ้านจะพากันมารวมกลุ่มก่อกองไฟ บ้างก็สาวไหม บ้างก็ปั่นฝ้าย กรอฝ้าย ฝ่ายชายก็ถือโอกาสมาเกี้ยวพาราสีและนั่งคุยเป็นเพื่อน บางครั้งก็มีการนำดนตรีพื้นบ้านอย่างพิณ แคน โหวต มาบรรเลงโต้ตอบกัน เนื่องจากอีสานมีชนอยู่หลายกลุ่มวัฒนธรรม การผลิตผ้าพื้นเมืองจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรม
กลุ่มอีสานใต้ คือ กลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรที่กระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษและบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มที่มีการทอผ้าที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะของตนเอง มีสีสันทีแตกต่างจากกลุ่มไทยลาว
· การแต่งกายชุดไทยประจำภาคกลาง
ภาษาภาคกลาง ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยกลางที่เป็นภาษาราชการ ยกเว้นคนบางกลุ่มที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีน ชาวมอญ หรือชาวลาวพวน ซึ่งมีสำเนียงภาษาที่แตกต่างออกไป
การแต่งกายภาคกลาง การแต่งกายในชีวิตประจำวันทั่วไป ชายนุ่งกางเกงครึ่งน่อง สวมเสื้อแขนสั้น คาดผ้าขาวม้า ส่วนหญิง จะนุ่งซิ่นยาว สวมเสื้อแขนสั้นหรือยาว
ลักษณะการแต่งกาย
ผู้ชาย สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง นิยมสวมใส่โจงกระเบนสวมเสื้อสีขาว ติดกระดุม 5 เม็ด ที่เรียกว่า “ราชประแตน” ไว้ผมสั้นข้างๆตัดเกรียนถึงหนังศีรษะข้างบนหวีแสกกลาง
ผู้หญิง สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง นิยมสวมใส่ผ้าซิ่นยาวครึ่งแข้ง ห่มสไบเฉียงตามสมัยอยุธยา ทรงผมเกล้าเป็นมวย และสวมใส่เครื่องประดับเพื่อความสวยงาม
· การแต่งกายชุดไทยประจำภาคใต้
ภาคใต้ มีภาษาพูดประจำถิ่นที่ห้วนๆ สั้นๆ เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “ภาษาใต้หรือแหลงใต้” ส่วนกลุ่มคนที่อยู่แถบชายแดนไทย-มาเลเซีย นิยมพูด ภาษายาวี หรือภาษามาเลเซีย
ตัวอย่างภาษาพูดภาคใต้ เช่น แหลง (พูด) หร๋อย (อร่อย) ทำไหร๋ (ทำอะไร) บางท้องถิ่นใช้ภาษายาวี เพราะนับถือศาสนาอิสลาม การแต่งกายภาคใต้ ภาคนี้มีการแต่งกายต่างกันตามเชื้อชาติ ถ้าเชื้อสายจีนจะแต่งแบบจีน ถ้าเป็นชาวมุสลิม ก็จะแต่งคล้ายกับชาวมาเลเซีย ปัจจุบันแหล่งทำผ้าแบบดั้งเดิมนั้นเกือบจะสูญหายไป คงพบได้เฉพาะ 4 แหล่งเท่านั้นคือ ที่ตำบลพุมเรี้ยง จังหวัดสุราษฎร์ธานี , อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช , เกาะยอ จังหวัดสงขลา และตำบลนาหมื่นศรี จังหวัดตรังการแต่งกายของชาวใต้
การแต่งกายนั้นแตกต่างกันในการใช้วัสดุ และรูปแบบโดยมีเอกลักษณ์ไปตามเชื้อชาติ ของผู้คนอันหลากหลายที่เข้ามาอยู่อาศัยในดินแดนอันเก่าแก่แห่งนี้พอจำแนกเป็น
กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. กลุ่มเชื้อสายจีน – มาลายู เรียกชนกลุ่มนี้ว่ายะหยา หรือ ยอนย่า เป็นกลุ่มชาวจีน เชื้อสายฮกเกี๊ยนที่มาสมรสกับชนพื้นเมืองเชื้อสายมาลายู ชาวยะหยาจึงมีการแต่งกายอันสวยงาม ที่ผสมผสาน รูปแบบของชาวจีนและมาลายูเข้าด้วยกันอย่างงดงาม ฝ่ายหญิงใส่เสื้อฉลุลายดอกไม้ รอบคอ,เอว และปลายแขนอย่างงดงาม นิยมนุ่งผ้าซิ่นปาเต๊ะ ฝ่ายชายยังคงแต่งกาย คล้ายรูปแบบจีนดั้งเดิมอยู่
2. กลุ่มชาวไทยมุสลิม ชนดั้งเดิม ของดินแดนนี้นับถือศาสนาอิสลาม และมี เชื้อสายมาลายู ยังคงแต่งกายตามประเพณี อันเก่าแก่ฝ่ายหญิงมีผ้าคลุมศีรษะ ใส่เสื้อผ้ามัสลิน หรือลูกไม้ตัวยาวแบบมลายูนุ่งซิ่นปาเต๊ะ หรือ ซิ่นทอแบบมาลายู ฝ่ายชายใส่เสื้อคอตั้ง สวมกางเกงขายาว และมีผ้าโสร่งผืนสั้น ที่เรียกว่า ผ้าซองเก็ต พันรอบเอวถ้าอยู่ บ้านหรือลำลองจะใส่โสร่ง ลายตารางทอด้วยฝ้าย และสวมหมวกถักหรือ เย็บด้วยผ้ากำมะหยี่
3. กลุ่มชาวไทยพุทธ ชนพื้นบ้าน แต่งกายคล้ายชาวไทยภาคกลาง ฝ่ายหญิงนิยมนุ่งโจงกระเบน หรือ ผ้าซิ่นด้วย ผ้ายกอันสวยงาม ใส่เสื้อสีอ่อนคอกลม แขนสามส่วน ส่วนฝ่ายชายนุ่งกางเกงชาวเล หรือ โจงกระเบนเช่นกัน สวมเสื้อผ้าฝ้ายและ มีผ้าขาวม้าผูกเอว หรือพาดบ่าเวลาออกนอกบ้านหรือไปงานพิธี